Monday, April 6, 2020

DIY สายจูงหมา

ที่บ้านผมเลี้ยงหมาไซบีเรียนอยู่ตัวหนึ่งชื่อบุ้งกี๋ ช่วงเย็นถ้าพอมีเวลา ผมก็จะเอาสายจูงคล้องแฮนด์จักรยาน แล้วให้บุ้งกี๋ลากไปวิ่งเล่น บุ้งกี๋จะได้ออกกำลังกาย ผลพลอยได้คือ ระหว่างทางมันก็จะฉี่ อึ ออกไปพอสมควร ทำให้มันมาปล่อยของในบ้านน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

สายจูงหมาเส้นเดิม เริ่มขาดรุ่งริ่ง มีครั้งหนึ่งที่สายขาดดังผึงต่อหน้าต่อตา ตอนนั้นใจหายแว้บ เพราะปกติบุ้งกี๋เป็นหมาที่ชอบวิ่งหนีไปผจญภัยตัวคนเดียวมาก มันวิ่งหายไปแต่ละครั้งก็เรื่องยาว กว่าจะตามตัวกลับมาได้ สภาพที่ได้กลับมาแค่เห็นก็เหนื่อยแล้ว แต่โชคดีที่วันนั้น มันยังไม่รู้ตัวว่ามันได้รับอิสระชั่วคราว ผมจึงรีบค่อยๆ ลงจากจักรยานแบบไม่กระโตกกระตากมาก และลงไปคว้าเชือกไว้ได้โดยที่มันยังไม่ทันวิ่งหนีไป

สภาพความรุ่งริ่งของสายจูงอันเดิม
เมื่อสายเดิมขาด ก็นำสายมาผูกมามัดใหม่ ซึ่งก็แข็งแรงหายห่วง ไม่มีหลุดหรือขาดอีก แต่ห่วงจับที่เคยมีขนาดพอดี ก็กลายเป็นสายเปลือยๆ 4 เส้นเล็กๆ ที่หลวมโครก เวลาจะนำมาคล้องกับแฮนด์จักรยานก็ไม่สะดวก ต้องเปลี่ยนวิธีคล้องเป็นแบบห่วงรัด ซึ่งเอาเข้าเอาออกลำบาก เพราะต้องคอยคลายห่วงทุกครั้ง

ก็เลยเกิดไอเดียทำสายจูงอันใหม่ ด้วยความรู้เท่าที่มี โดยเราจะเอาเชือกมาถักให้สายแข็งแรงมากขึ้น แล้วก็ทำปลายข้างหนึ่งเป็นที่จับสายจูง ปลายอีกข้างก็ลอกของเดิมมา คือร้อยเข้าวงและใช้แบบห่วงรัดที่คอบุ้งกี๋ จากที่ใช้สายจูงมาหลายแบบ แบบตะขอเกี่ยวสร้อยคอจะสุ่มเสี่ยงมาก ไม่รู้ว่าตะขอจะหลุดขาดวันไหน แบบห่วงรัดนี่แน่นหนาสุดแล้ว

อุปกรณ์ที่ใช้มีดังนี้

  • เชือก ตัดออกเป็น 4 เส้น ตามความยาวที่ต้องการ สำหรับนำมาถักเข้าด้วยกัน
  • จาน kumihimo ใช้เป็นตัวช่วยในการถักเชือกเข้าด้วยกัน
  • ห่วงเหล็ก 1 อัน


ถ้ารู้วิธีถักแบบอื่น ก็ไม่ต้องมีจาน kumihimo ก็ได้
ความยาวสายจูงที่ต้องการคือ 2 เมตร ลอง google ดูเร็วๆ เจอว่าอัตราส่วนคือ 3:1 แปลว่าถ้าอยากได้สายจูง 2 เมตร ก็ต้องใช้เชือกยาว 6 เมตร เลยตัดเชือก 6 เมตร ออกมา 4 เส้น


วิธีการถัก ผมอ้างอิงจาก blog นี้คับ

ตำแหน่งเริ่มต้น

เส้นล่างย้ายขึ้นบน

เส้นบนย้ายลงล่าง

เส้นขวาย้ายมาซ้าย

เส้นซ้ายย้ายมาขวา

ขยับเส้นให้ตรงกับตำแหน่งเริ่มต้น แล้วทำวนไป

ระหว่างที่ถักไปเรื่อยๆ ก็ไม่ได้วัดความยาวที่ได้ ถักไปจนครบ 6 เมตร พอมาวัดความยาวสายจูง ได้มา 4 เมตรกว่า สรุปคือ อัตราส่วน ไม่ใช่ 3:1 ละ แต่น่าจะเป็น 3:2 มากกว่า หรือจะคอยวัดความยาวที่ได้เป็นระยะๆ เอาก็ได้ จะได้ไม่ต้องถักเกิน ให้เหนื่อย

หลังจากถักเสร็จ มัดปมที่ปลายเชือกเรียบร้อย เราก็จะได้เชือกถักที่แข็งแรง

เชือกที่ถักเสร็จแล้ว เหลือทำที่จับและห่วงรัด

ปลายเชือกฝั่งหนึ่งจะเป็นที่จับสายจูง ผมใช้เงื่อนบ่วงสายธนู เป็นเงื่อนที่ห่วงจะขนาดคงที่ ไม่รูดไปมา

วิธีผูกเงื่อนสำหรับที่จับสายจูง

ที่ปลายเชือกอีกฝั่งหนึ่ง นำมาลอดห่วงเหล็ก และผูกเงื่อนเลขแปด เพื่อป้องกันเชือกหลุดจากห่วง ลอดเชือกกลับออกห่วงอีกครั้ง และมันปมเชือกเข้าด้วยกัน

วิธีผูกปม เพื่อไม่ให้เชือกหลุดจากห่วง
สายจูงที่ทำเสร็จแล้ว ออกมาหน้าตาแบบนี้คับ

สายจูงหมา ถักเอง พร้อมนำไปใช้งาน
ห่วงด้านซ้ายล่าง คือฝั่งที่จับ ไม่รูด ห่วงด้านขวาบนที่มีเหล็ก จะรูดได้ ใช้คล้องคอบุ้งกี๋

ได้ลองพาบุ้งกี๋ไปวิ่งมารอบหนึ่งแล้ว ใช้งานได้ดีอยู่ เรื่องความทนทานนี่ยังไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่ก็ดูแข็งแรงใช้ได้ ยังไงอาจจะมา update อีกที ว่ามันใช้งานมีปัญหาอะไรหรือเปล่า หรือว่าอยู่ได้นานแค่ไหน

Sunday, September 9, 2018

DIY กระเป๋าหนังใส่นามบัตร

หลังจากที่ทำปกสมุด พอดีมีคลิปต่อเนื่อง เป็นการเอาหนัง ส่วนที่เหลือมาทำเป็นกระเป๋าสตางค์แบบโคตรมินิมอล ตามคลิปนี้เลยครับ


ซึ่งผมก็ลองทำตาม ได้ออกมาเป็นผลงานตามรูป
ด้านในของกระเป๋า
ด้านนอก (ไม่ได้ทำมุมเพราะขี้เกียจ)
สภาพตอนใส่บัตร
ยังไม่ได้เอาไปใช้งานจริงนะครับ แต่เท่าที่ลองถอดๆ ใส่ๆ ดู พบว่า การหยิบใช้นั้นสะดวก เพราะสามารถอ้าปกเพื่อเปิดซองออกมาได้เลย แต่การใส่แบงก์กลับเข้าไปไม่สะดวกอย่างแรง เพราะมันต้องกางออกมาหมด ถ้าเอาไปใช้จริงตอนควักจ่ายยังไม่มีปัญหา แต่ตอนเอาเงินทอนใส่กลับนี่ น่าจะทุลักทุะลพอสมควร

ผมเลยคิดว่าจะเอามาใส่นามบัตร เพราะใส่บัตรอย่างเดียวก็หยิบง่ายดี นามบัตรหยิบออกอย่างเดียวไม่ต้องเก็บคืน (ถ้าบัตรหมด ตอนเติมบัตร เราก็อยู่ที่โต๊ะทำงานอยู่แล้ว สามารถเติมบัตรได้ไม่ลำบาก ไม่รีบ) ไปหาลูกค้าควักกระเป๋าหนังหยิบนามบัตรออกมานี่ อย่างเท่ห์ (ทำใช้เอง เท่ห์อยู่แล้ว)

มีใครอยากได้มั้ยครับ?

Saturday, September 1, 2018

DIY ปกหนังขนาด passport

ต่อจากบทความก่อน ที่ผมทำปกหนังสำหรับสมุดบันทึก รอบนี้ผมอยากลองทำขนาด passport ดูมั่งครับ จะได้พกง่ายหน่อย โดยสิ่งที่ upgrade ขึ้นมาจากรอบที่แล้วก็จะมี

  • หนังที่ใช้ รอบนี้เป็นหนัง ออยล์อิตาลี สีน้ำตาลเข้ม หนา 2 mm. มาดเข้มขรึม อยู่ทรง ไม่ย้วย
  • ยางรัด ของเดิม 1.0 mm รอบนี้เพิ่มเป็น 1.5 mm เพื่อให้กระชับมากขึ้น
  • ปรับตำแหน่งปมเชือกให้อยู่นอกปก
แหล่งข้อมูล ผมยังอ้างอิงไปที่คลิปเดิมครับ ตามด้านล่างนี้เลย


อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมมีดังนี้
  • หนัง เลือกแบบ สี ที่ชอบ ขนาดที่ต้องการ ความหนาสัก 2 mm กำลังดี
  • คัตเตอร์คมๆ ฟุตเหล็ก สำหรับกรีดหนัง
  • เข็มเจาะหนังขนาดให้พอดีกับยางรัด (ผมใช้ยางขนาด 1.5 mm) ค้อน และที่รองตอนตอก
  • เข้ม ด้าย กรรไกร (ใช้ช่วยตอนร้อยยางรัดเข้ารู)
  • เหรียญ 25 สตางค์ เอามาเล็มมุมปกให้มน (แต่ไม่ต้องทำก็ได้)
ถ้าอุปกรณ์ครบก็เตรียมทำตามขึ้นตอนในคลิปเลยครับ

ตัดหนังไปแล้วค่อยเอามาถ่าย มันเลยเป็นยังงั้นแหละคับ

ขนาดหนัง ในคลิปเขาระบุเป็น H132 x W 200 mm แต่ผมอ้างอิงขนาดจาก traveller's notebook ที่ระบุขนาดเป็น H134 x W98 x D10mm ตอนจะตัดแผ่น ผมเลยคำนวนรวมความหนาด้วย ได้ออกมาเป็นขนาด H134 x W206 mm ครับ

อีกจุดที่ผมทำต่างจากคลิปคือ ตรงยางรัดใส้สมุด ผมย้ายปมที่ผูกไปไว้ด้านนอกปก ในคลิปเขาอยากให้ดูจากข้างนอกแล้วเรียบร้อย เลยเอาปมไว้ด้านใน แต่ผมอยากให้ข้างในเรียบร้อยมากกว่า เลยเอาไปมไว้ด้านนอกแทน มาดูผลงานกันเลยดีกว่าครับ

สภาพตอนยังไม่ยัดไส้

สังเกตุสันปกด้านบน จะเห็นปมเชือกที่ผมย้ายมาข้างนอก (ในคลิปปมอยู่ในปก)
ลองยัดไส้ที่ 1
เติมไส้ที่ 2 เข้าไป
ใส่เข้าไปอีกเป็น 3 เล่ม เหน็บปากกาไว้ด้วย
การใส่ใส้ 1 เล่ม, 2 เล่ม, 3 เล่ม มีอธิบายในเวบ traveller's notebook ครับ

ถ่ายคู่กับรุ่นพี่ซะหน่อย
หนังมีเสน่ห์ตรงร่องรอยที่เกิดจากการใช้งานครับ คือถ้ามีการใช้งานยังไงมันจะต้องมีรอยขีดข่วนเกิดขึ้นแน่นอน ถ้าปกใครมีรอยเยอะหน่อยก็บ่งบอกได้ถึงการใช้งานที่ยาวนาน หรือใช้งานสมบุกสมบัน กลายเป็นอัตลักษณ์ของเจ้าของที่แสดงออกผ่านทางร่องรอยบนของใช้ คล้ายๆ รอยบนกางเกงยีนส์นั่นแหละครับ ถ้าใครสังเกตุรูปสุดท้าย จะเห็นว่ามีรอยขีดยาวอยู่บนหน้าปก ก็บ่งบอกว่า ตอนทำยังไม่ได้ตัดเล็บครับ :D มันเลยไปขูดโดนโดยไม่ได้ตั้งใจ T_T

ใครอยากลองทำใช้เอง สนใจทักมาคุยกันก่อนได้ครับ ที่ LINE: niwpopkorn

Sunday, August 20, 2017

DIY Running Sandals - รองเท้าวิ่งทำมือ Revisited

1 ปีผ่านไป หลังจากที่ผมวิ่งด้วยรองเท้าที่ทำเองกับมือ ผมทำไว้ 2 คู่ คู่นึงไว้ที่บ้าน สำหรับวิ่งที่สวนแถวบ้าน อีกคู่นึงไว้ที่ออฟฟิศ สำหรับวิ่งที่สวนลุม ตอนนี้คู่ที่ใส่วิ่งแถวบ้านถึงเวลาต้องเปลี่ยนพอดี เลยเอาสภาพหลังผ่านการใช้งานมาให้ดูกัน


หลังจากใช้งานไปได้สักพักนึง ผมพบว่าการพันเชือกที่ข้อเท้าเต็มรูปแบบ คือจะไขว้ผ่านหลังข้อเท้าไปมาอยู่ 3 รอบ ค่อนข้างเสียเวลา ผมเลยปรับการพันเชือกให้ง่ายขึ้น ใช้เชือกน้อยลง และสามารถสวมเท้าแล้วออกวิ่งได้เลย ไม่ต้องถอดเชือกออกมาพันใหม่ทุกครั้ง

มี 2 เวอร์ชัน ลองเลือกเอาตามใจชอบได้เลยคับ (ผมใช้ทั้ง 2 เวอร์ชัน ขึ้นอยู่กับความยาวเชือกที่เหลืออยู่)




เมื่อวิ่งไปสักพักใหญ่ๆ ปมเชือกพื้นรองเท้า (ตรงข้างง่ามนิ้วโป้งกับนิ้วชี้) จะขาดออกไป เป็นการเสื่อมสภาพตามการใช้งาน ถ้าเชือกเหลือ ก็สามารถร่นเชือกขึ้นมาและทำปมใหม่ ใช้งานต่อได้เลย ถ้าทำจนสุดแล้ว ก็ถอนเชือกเก่าออก และตัดเชือกใหม่มาร้อยเข้ารู กระบวนการเหล่านี้สามารถทำได้เอง และใช้เวลาไม่นาน อย่างคู่นี้ ปมขาดไปประมาณข้างละ 2 รอบ เปลี่ยนเชือกใหม่ไปข้างละครั้ง

มีครั้งหนึ่งที่ผมสวมรองเท้าเตรียมออกวิ่ง ระหว่างเดินจากออฟฟิศไปสวนลุม ปรากฏว่าปมที่ฝ่าเท้าข้างขวาขาดระหว่างข้ามแยกลุมพินี ตอนแรกกะว่าจะเดินเท้าเปล่ากลับออฟฟิศไปซ่อมรองเท้า แล้วค่อยมาวิ่งใหม่วันถัดไป แต่พอนึกขึ้นได้ว่า การแก้ไขมันไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรเลย มีแค่ไฟแช๊คไว้ลนที่ปมเชือกแค่นั้น พอนึกได้ตามนั้น ก็ใช้มือเปล่าๆ ร่นเชือก ยัดเข้ารู มัดปม เดินไปขอยืมไฟแช๊คร้านขายน้ำหน้าประตูสวนลุม ลนไฟ แล้วก็ออกวิ่งได้เลย


สภาพพื้นรองเท้า ดอกยางส่วนหน้าเท้ากับฝ่าเท้าด้านนอกจะไปก่อน 



ข้างเท้าข้างซ้ายที่ดอกสึกและกินต่อเข้าไปถึงพื้นโฟม น่าจะเกิดจากการที่ผมวิ่งในสนามฟุตบอลแล้ววิ่งวนซ้ายอยู่ตลอด น้ำหนักน่าจะลงที่ข้างเท้าด้านซ้ายเยอะสุด


รูที่หัวรองเท้า มีการปรับตำแหน่งจากการร้อยครั้งแรก เนื่องจากพอเอาไปลองวิ่งแล้ว ตำแหน่งเดิมมันทำให้หัวรองเท้าส่ายตอนยกเท้าลอยจากพื้น พอปรับตำแนห่งรูให้เข้ามาด้านในมากขึ้น อาการหัวรองเท้าส่ายก็ดีขึ้น


รูร้อยเชือกใต้ตาตุ่มข้างเท้าด้านใน ของรองเท้าทั้งสองข้าง มีการเจาะเพิ่มเช่นกัน ไม่ได้เกิดจากตำแหน่งเดิมไม่ดี แต่พอวิ่งไปสักพักใหญ่ๆ รูมันฉีกออกด้านข้างรองเท้า ทำให้ต้องเจาะรูใหม่ ตำแหน่งรูตรงนี้ไม่ส่งผลมากนัก (เทียบกับรูที่หัวรองเท้า ที่ต้องเป๊ะกว่า รองเท้าถึงจะสมดุล)



Saturday, May 6, 2017

DIY ปกหนังใส่สมุดบันทึกแบบเปลี่ยนไส้สมุดได้ สไตล์มินิมอล

ไม่กี่วันก่อน ผมได้เจอกับวิดีโอสอนทำปกหนัง สำหรับใส่สมุดบันทึกแบบเปลี่ยนไส้สมุดได้เอง ประโยชน์ของการเปลี่ยนไส้สมุดได้เองก็คือ มันจะทำให้เราหาไส้สมุดที่มีขนาดเดียวกันมาเปลี่ยน ไม่ใช่บันทึกลงสมุดต่างขนาด ตามแต่จะหาได้ ซึ่งสำหรับคนที่เขียนบันทึกเป็นประจำ การเก็บสมุดที่บันทึกแล้ว โดยสมุดทั้งหมดมีขนาดเดียวกัน จะทำให้จัดระเบียบได้ง่าย และเวลาเราบันทึก เราจะคุ้นชินกับขนาดหน้ากระดาษแบบนั้นๆ ทำให้เรากะระยะในการเขียนบันทึกได้ง่าย ลองไปดูวิธีทำจากวิดีโอด้านล่างได้เลยครับ


ส่วนการพกสมุดบันทึกนั้น จริงๆ จะพกสมุดเปลือยๆ ไปเลยก็ได้ แต่ถ้าเราทำปกหนังมาใช้งาน การพกพามันจะดูเรียบร้อยมากขึ้น เพราะปกหนังมันคลาสสิค (ตอนผมถือในมือครั้งแรก นึกถึงภาพชาวบาลิโลนพกสมุดหนังแพะ) แต่ข้อสำคัญอีกข้อคือ ปกแบบนี้ทำให้เราพกสมุดบันทึกได้หลายเล่มพร้อมกันได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย และสามารถเติม option อื่นๆ เข้ามาได้อีก เช่น ทำที่เก็บกระดาษแผ่นเล็กๆ เป็นซอง หรือเป็นกระเป๋าซ่อนอยู่ในปกหนังชุดเดียวเลย ดูตัวอย่างการใช้ปกหนังตัวนี้ได้จากวิดีโอด้านล่าง



หลังจากลองทำดูครั้งแรก ใช้เวลาไม่นานก็ทำได้ เนื่องจากวิธีการมันมินิมอลมากๆ แค่ตัดหนัง เจาะรู ร้อยเชือก ก็เสร็จแล้ว ด้านล่างนี้เป็นฝีมือผมเองครับ

สภาพสมุดตอนพกพา

สภาพตอนเปิดสมุดมาขีดเขียน

การยึดสมุดเข้ากับปกหนัง
สำหรับใครที่อยากลองทำใช้เองบ้าง ก็เริ่มลงมือได้เลยครับ ไม่มีอะไรยาก ถ้าผมรู้จักวิธีการนี้ก่อน ผมจะเอาไปทำส่งครูวิชางานฝีมือครับ ทำง่าย สวยง่าย ใช้ง่าย

สนใจทักมาคุยกันก่อนได้ครับ ที่ LINE: niwpopkorn









Tuesday, July 19, 2016

DIY Running Sandals - รองเท้าวิ่งทำมือ ตอนที่ 2

ต่อจากตอนที่แล้ว คราวนี้ผมจะมาแนะนำขั้นตอนการทำรองเท้าวิ่งเลยนะครับ
วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้มีดังนี้
  • พื้นยาง มีลายหนึ่งด้าน อีกด้านเป็นพื้นเรียบ ความหนาตามต้องการ (ของผมใช้ 2 mm.)
  • โฟมความหนาตามต้องการ (ของผมใช้โฟมหนา 6 mm.)
  • กาวเอนกประสงค์ (กาวยาง) + แปรงทากาว
  • อุปกรณ์เจาะรูสำหรับร้อยเชือก (ผมใช้แบบตอก) ควรเลือกขนาดให้เล็กกว่าเชือกนิดหน่อย
  • เชือก (ผมใช้เชือกพลาสติกนุ่มๆ)



เริ่มจากการเตรียมพื้นรองเท้าก่อน โดยทากาวเอนกประสงค์ลงบนพื้นยางฝั่งที่มีหน้าเรียบ กับโฟม 
  • โฟมทั้ง 2 ฝั่งจะเหมือนกัน เวลาเลือกก็ให้เลือกหน้าสวยๆ เป็นพื้นส่วนสัมผัสกับเท้า อีกฝั่งหนึ่งก็จะเป็นส่วนที่จะประกบกับพื้นยาง
  • ก่อนตัดพื้นยาง ให้เลือกแนวรองเท้าตามลายของพื้นรองเท้าด้วย ว่าจะให้วางตัวแนวไหนของลาย
  • เวลาทากาวเอนกประสงค์ ให้ทาบนวัสดุที่จะประกบกัน ทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที พอกาวเริ่มแห้งค่อยเอามาประกบกันให้สนิท อาจจะหาของหนักมาทับ หรือใช้ค้อนเคาะเบาๆ ให้วัสดุติดกันทั้งแผ่น
  • ตอนทากาว ให้ทำในที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้ดี เพราะกลิ่นกาวจะฉุนพอสมควร 
  • หาหนังสือพิมพ์ปูรองไว้ จะได้ไม่ต้องมาขูดกาวออกจากพื้นทีหลัง
  • ถ้าใส่ถุงมือยางไว้ จะสะดวกมากขึ้น ไม่ต้องกลัวกาวติดมือ


หลังจากได้พื้นรองเท้ามาแล้วเราก็จะมาเริ่มวาดแบบจากเท้าของเรา


การวาดแบบสามารถวาดลงพื้นรองเท้าโดยตรง หรือจะวาดแบบใส่กระดาษไว้ก่อนก็ได้ โดยมีวิธีการดังนี้
  1. เอาเท้าวางบนกระดาษ
  2. ใช้ปากกาวาดเส้นรอบเท้า ตอนลากเส้นให้วางปากกาในแนวตรง (หัวปากกกาจะได้ไม่เอียงเข้าหาเท้า แล้วได้แบบที่เล็กเกินไป)
  3. ตรงข้อนิ้วโป้งเท้า บริเวณปลายนิ้วเท้าทั้งห้า และข้อนิ้วก้อยเท้า เราจะได้เส้นเว้าเข้าออก ให้ลากเส้นโค้งต่อเนื่องเผื่อพื้นที่ไว้เลย เราจะได้แบบที่โค้งอย่างเดียว ไม่มีเว้า (เหมือนพื้นรองเท้าทั่วๆ ไป)
  4. ทำเครื่องหมายสำหรับเจาะรูร้อยเชือกไว้ 3 ตำแหน่งคือ ง่ามระหว้างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ บริเวณตาตุ่มด้านใน และบริเวณตาตุ่มด้านนอก
  5. เอาแบบที่ได้มาประกบกับพื้นรองเท้า ลอกแบบด้วยดินสอลงบนพื้นรองเท้า และตัดพื้นรองเท้าตามแบบ
  6. ใครที่เท้าซ้าย-ขวาไม่ต่างกัน สามารถใช้แบบที่ทำไว้ พลิกด้านและตัดพื้นรองเท้าสำหรับอีกข้างหนึ่งได้ ตอนทำ ระวังจะสับสนตัดข้างเดียวกันออกมา 2 ครั้ง
  7. ใช้กรรไกรตัดได้เลย เมื่อยมือนิดหน่อย ตัดทวนเข็มนาฬิกาจะง่ายกว่า และตอนตัดให้ตัดเผื่อจากเส้นที่วาดแบบไว้ เพราะเอาออกทีหลังได้ แต่ถ้าเล็กไปต้องทำใหม่


เมื่อตัดพื้นรองเท้าเสร็จทั้ง 2 ข้าง ก็ลอกตำแหน่งเจาะรูร้อยเชือกจากแบบ (ใช้ปากกาเจาะกระดาษให้ทะลุเลยก็ได้)

เจาะรูตามตำแหน่งที่ทำเครื่องหมายไว้ สำหรับรูข้างตาตุ่มทั้ง 2 ฝั่ง ให้เขยิบรูเข้ามาจากขอบประมาณ 4-6 mm. เพื่อไม่ให้รูฉีกไปที่ขอบพื้นรองเท้า


ร้อยเชือกโดยเริ่มจากรูที่ง่ามเท้า (วิธีการร้อย ดูจากวิดีโอด้านล่าง)


เสร็จแล้ว เตรียมตัวออกไปวิ่งด้วยความตื่นเต้นกับประสบการณ์ใหม่ ตอนวิ่งจะมีเสียงดังแปะๆ นิดหน่อย ยิ่งตอนวิ่งเหนื่อยมากๆ แต่วิ่งด้วยความเร็ว เสียงจะดังจนคนหันมาแล้วหลบฉากออกไปเลยทีเดียว (ภาพที่เราเห็นจะเหมือนมีเส้นสปีดแบบในมังงะ พุ่งตรงไปข้างหน้าเลยทีเดียว)


สำหรับการใส่วิ่งครั้งแรก เชือกอาจจะมีหลุดบ้าง ก็ต้องแวะผูกเชือกกันใหม่ ค่อยๆ ปรับเชือกให้เหมาะ ไม่หลวมเกินไป ไม่แน่นเกินไป สัมผัสแรกเราจะรู้สึกคล้ายๆ เดินเท้าเปล่า (แต่ก็ไม่ขนาดนั้นหรอก) เพราะเราจะรู้สึกได้ถึงหลุมเนิน หรือเศษใบไม้ กรวดเล็กๆ บนพื้นที่เราเดินอยู่ แนะนำให้ลองวิ่งระยะน้อยๆ ก่อน พอเข้าที่เข้าทางค่อยปรับระยะมาเป็นระยะปกติของเรา

ใครยังไม่เห็นภาพ ลองดูวิดีโอของ invisibleshoes เพื่อทำความเข้าใจก่อนจะเริ่มลงมือได้ครับ




ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้ แล้วคันไม้คันมือ อยากลองทำเลย ผมมีพื้นรองเท้าที่ทากาวไว้เรียบร้อยแล้ว ตัดเป็นแผ่นขนาด 27 cm. x 31 cm. (ทำรองเท้าได้ 1 คู่) เอาไปตัดตามแบบเท้าตัวเอง เจาะรู ร้อยเชือก (มีเชือกให้ แต่ต้องหาที่เจาะรูเองนะครับ) ก็จะได้รองเท้าที่ทำเองสำหรับใช้งาน 1 คู่

สนใจทักมาคุยกันก่อนได้ที่ LINE: niwpopkorn ครับ 

Sunday, July 10, 2016

DIY Running Sandals - รองเท้าวิ่งทำมือ ตอนที่ 1

ผมไม่ใช่นักวิ่ง แค่ได้ลองวิ่งแล้วรู้สึกว่ามันเหนื๊อยเหนื่อย รู้เลยว่าหลงตัวเองมาตลอด หลงคิดว่าการปั่นจักรยานเป็นประจำนั้น ทำให้เราแข็งแรงมากพอ (ผมปั่นจักรยานจากบ้านไปออฟฟิศ ระยะทาง 8 km ไปกลับก็ 16 km เป็นระยะสั้นๆ ใช้เวลาประมาณ 25 นาที/เที่ยว) เลยอยากวิ่งให้แข็งแรงขึ้นจนรู้สึกไม่เหนื่อยจนทรมานเหมือนตอนวิ่งครั้งแรก (ยังจำความรู้สึกได้อยู่เลย เริ่มวิ่งแค่ระยะ 50 m ด้วยความเร็วที่โดนคนเดินแซง แต่หัวใจเต้นแรงจนรู้สึกเจ็บหน้าอก หายใจไม่ค่อยถนัด ระหว่างวิ่งไม่คิดจะพูดเลยเพราะเหนื่อยมากกกก)

ผมได้มารู้ว่ามีคนวิ่งเท้าเปล่า จากพี่ที่รู้จักกัน เป็นการเปิดหูเปิดตาผมเหมือนกัน มันทำให้ผมเบี่ยงเบนมาทางการวิ่งแบบธรรมชาติซึ่งจะลงหน้าเท้า และคอยระวังเรื่องการลงด้วยส้นเท้า

การวิ่งเท้าเปล่ามันดึงดูดความสนใจผมได้เนื่องจาก
  • เป็นท่าวิ่งที่ธรรมชาติจริงๆ สัญชาตญานจะบอกให้เราลงหน้าเท้าเมื่อเราวิ่งเท้าเปล่า เพราะถ้าลงส้นมันรู้สึกไม่มั่นคง น่าจะล้มง่าย แล้วมันรู้สึกกระแทกมากกว่ากันเยอะ
  • มันทำให้การวิ่งไม่มีสิ่งปรุงแต่งต่างๆ ที่มากับรองเท้า เช่น แฟชั่น เทคโนโลยี ฐานะทางสังคม
บางคนมองว่า เทคโนโลยีในรองเท้าช่วยให้เราวิ่งวิ่งได้สบายกว่าเดิม ซึ่งก็น่าจะทำให้วิ่งได้เร็วขึ้นและไกลขึ้น แต่สิ่งที่ผมต้องการจากการวิ่ง เขียนไว้ที่ย่อหน้าแรกแล้ว ซึ่งมันไม่ใช่การวิ่งได้เร็วหรือวิ่งได้ไกล เป้าหมายผมเลยไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีในรองเท้า

เมื่อมีโอกาส ผมก็เลยลองวิ่งเท้าเปล่าแบบไม่รู้อะไรเลย ลองวิ่งบนสนามหญ้าในสวนลุมฯ แล้วรู้สึกดีมาก ทุกๆ ก้าว เราจะได้เหยียบหญ้านุ่มๆ บางส่วนมีน้ำขังในกอหญ้าก็วิ่งลุยน้ำได้เลย (ถ้าใส่รองเท้าเราคงไม่วิ่งลุยน้ำเพราะขี้เกียจมาซักทีหลัง) เท้าที่จุ่มลงน้ำตื้นๆ มีหญ้ารองข้างใต้อีกที มันรู้สึกดีมากครับ เย็น นุ่ม สดชื่น วิ่งเหยียบกิ่งไม้บ้าง ก้อนหินบ้าง เราก็จะรู้สึกเคืองๆ หรือสะดุดนิดหน่อย แต่ก็ยังไปต่อได้ จนกระทั่งวิ่งไปเหยียบอะไรสักอย่างแล้วรู้สึก "เจ็บ" เลยหยุดวิ่ง นั่งลงหงายฝ่าเท้าดู ก็เห็นเลือดไหลซิบๆ ก็เลยรู้ตัวว่าเท้าเราบางเกินไป เนื่องจากเรามีสัมผัสนุ่มๆ ของพื้นรองเท้ามารองรับอยู่ตลอด เจออะไรนิดหน่อย ก็โดนทิ่มเลือดไหลละ

เข็ดจากการลองวิ่งเท้าเปล่า ผมก็เริ่มมาสนใจรองเท้าที่ทำให้เราวิ่งได้ใกล้เคียงเท้าเปล่า ที่คนรู้จักเยอะหน่อยก็จะเป็น Vibram FiveFingers เป็นรองเท้าที่เหมือนถุงเท้า 5 นิ้ว แต่ทำจากยางบางๆ แค่ห่อหุ้มผิวหนังเพิ่มขึ้นอีกชั้นแค่นั้น ไม่มีส่วนรับแรงกระแทกอย่างรองเท้าวิ่งทั่วไป 

รองเท้า Vibram FiveFingers
ภาพจาก pantip

ผมได้เปิดหูเปิดตาอีกครั้ง จากพี่ที่รู้จักกัน (คนเดิม) เพราะเขาใส่รองเท้าวิ่งที่ผมไม่เคยเห็นใครใส่วิ่งมาก่อน ลักษณะเหมือนรองเท้าของพวกนักรบสมัยกรีก-โรมันที่เคยเห็นในหนัง คือจะเป็นแค่พื้นรองเท้าแล้วก็เป็นเส้นๆ ขึ้นมาพันเท้าขึ้นมาจนถึงหน้าแข้ง ไม่มีอะไรห่อหุ้มมากนัก ได้มารู้อีกทีว่า ชื่อมันคือ Huaraches เป็นรองเท้าที่ชนเผ่านึงเขาใช้กัน เพราะมันทำได้เอง จากวัสดุเหลือใช้ เช่น ยางรถยนต์

รองเท้า Huaraches
ภาพจาก tumblr

กลับมาที่รองเท้าวิ่งคู่นั้น ผมได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พี่เขาได้มาจากคนที่รู้จักกัน ซึ่งพี่คนนั้นเขาทำใช้เอง ผมเริ่มเห็นความเป็นไปได้ที่จะทำรองเท้านี้ใช้เอง เลยเริ่มหาข้อมูล ก็มาเจอว่ามีคนทำขายอยู่แล้ว และก็แพร่หลายอยู่พอสมควร ถ้าอยากหามาใส่วิ่งก็สั่งซื้อเอาได้ เพราะทำเองเริ่มรู้สึกว่ามันวุ่นวายเกิน วัสดุที่ใช้ก็ไม่รู้จัก ไม่รู้จะซื้อที่ไหนยังไง กลัวทำมาแล้วใช้ไม่ได้ จะกลายเป็นเพิ่มขยะให้โลกนี้ซะเปล่าๆ

รองเท้า Huaraches แบบสำเร็จรูป
ภาพจาก pantip

วันหนึ่ง ผมมีโอกาสได้ขอยืมพี่เขาใส่รองเท้าคู่นั้นวิ่ง ความรู้สึกแรกคือมันดูแปลก เหมือนแต่ง cosplay มากกว่าจะไปวิ่ง การพันผูกเชือกไม่ยากมาก แต่วิ่งครั้งแรก แล้วมีหลุด ก็ต้องแวะผูกใหม่ แต่จุดที่ประทับใจคือ ความรู้สึกมันใกล้กับการวิ่งเท้าเปล่ามากกว่ารองเท้าทั่วไป คือ เท้าด้านบนจะเปลือย รับลมได้เต็มที่ การวิ่งไปเจอพื้นที่ไม่เรียบ แม้จะเป็นพื้นนูนเล็กๆ เราก็จะรู้สึกได้ การลงน้ำหนักถ้าเราเผลอลงส้น แรงมันสะเทือนขึ้นมาจนรู้สึกได้ เราก็จะปรับก้าวถัดไปให้ลงหน้าเท้าได้ทันที

พอได้ลองแล้วผมเกิดอาการติดใจ เริ่มจริงจังกับการหารองเท้าคู่ใหม่ การใช้เงินแก้ปัญหา คือหาซื้อเอา มันก็สะดวกดี เร็วกว่า ใช้ได้ชัวร์ แต่ผมชอบการทำใช้เองมากกว่า เพราะมันต้องใช้ความคิดเยอะกว่า ได้ลองทำในสิ่งที่เราไม่ถนัด และที่สำคัญคือ ได้ความภูมิใจจากการเป็นผู้สร้างสรรค์

สรุปว่าผมทำรองเท้าวิ่งใช้เอง 2 คู่ ไว้ที่บ้าน 1 คู่ ไว้ที่ออฟฟิศ 1 คู่ จะได้ไม่ต้องวางแผน ว่าจะวิ่งวันไหน วิ่งที่ไหน ถ้ามีโอกาสวิ่ง จะแถวบ้านหรือแถวออฟฟิศ ก็หยิบมาร้อยเชือกออกวิ่งได้เลย รองเท้า 2 คู่นี้ทำให้ผมสนุกกับการวิ่งมากกว่าเดิม เพราะมันได้ความภูมิใจทุกครั้งที่เห็น ทุกครั้งที่สวม ร้อยเชือก ทุกครั้งที่ออกก้าววิ่ง ผมอยากออกไปวิ่งบ่อยกว่าเดิม และผมก็วิ่งได้เร็วขึ้นทีละนิดด้วย (ไม่รู้ว่าเกี่ยวกับรองเท้าหรือไม่) ถ้าใครอยากลองทำตามบ้าง รอติดตามตอนต่อไปครับ