Tuesday, July 19, 2016

DIY Running Sandals - รองเท้าวิ่งทำมือ ตอนที่ 2

ต่อจากตอนที่แล้ว คราวนี้ผมจะมาแนะนำขั้นตอนการทำรองเท้าวิ่งเลยนะครับ
วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้มีดังนี้
  • พื้นยาง มีลายหนึ่งด้าน อีกด้านเป็นพื้นเรียบ ความหนาตามต้องการ (ของผมใช้ 2 mm.)
  • โฟมความหนาตามต้องการ (ของผมใช้โฟมหนา 6 mm.)
  • กาวเอนกประสงค์ (กาวยาง) + แปรงทากาว
  • อุปกรณ์เจาะรูสำหรับร้อยเชือก (ผมใช้แบบตอก) ควรเลือกขนาดให้เล็กกว่าเชือกนิดหน่อย
  • เชือก (ผมใช้เชือกพลาสติกนุ่มๆ)



เริ่มจากการเตรียมพื้นรองเท้าก่อน โดยทากาวเอนกประสงค์ลงบนพื้นยางฝั่งที่มีหน้าเรียบ กับโฟม 
  • โฟมทั้ง 2 ฝั่งจะเหมือนกัน เวลาเลือกก็ให้เลือกหน้าสวยๆ เป็นพื้นส่วนสัมผัสกับเท้า อีกฝั่งหนึ่งก็จะเป็นส่วนที่จะประกบกับพื้นยาง
  • ก่อนตัดพื้นยาง ให้เลือกแนวรองเท้าตามลายของพื้นรองเท้าด้วย ว่าจะให้วางตัวแนวไหนของลาย
  • เวลาทากาวเอนกประสงค์ ให้ทาบนวัสดุที่จะประกบกัน ทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที พอกาวเริ่มแห้งค่อยเอามาประกบกันให้สนิท อาจจะหาของหนักมาทับ หรือใช้ค้อนเคาะเบาๆ ให้วัสดุติดกันทั้งแผ่น
  • ตอนทากาว ให้ทำในที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้ดี เพราะกลิ่นกาวจะฉุนพอสมควร 
  • หาหนังสือพิมพ์ปูรองไว้ จะได้ไม่ต้องมาขูดกาวออกจากพื้นทีหลัง
  • ถ้าใส่ถุงมือยางไว้ จะสะดวกมากขึ้น ไม่ต้องกลัวกาวติดมือ


หลังจากได้พื้นรองเท้ามาแล้วเราก็จะมาเริ่มวาดแบบจากเท้าของเรา


การวาดแบบสามารถวาดลงพื้นรองเท้าโดยตรง หรือจะวาดแบบใส่กระดาษไว้ก่อนก็ได้ โดยมีวิธีการดังนี้
  1. เอาเท้าวางบนกระดาษ
  2. ใช้ปากกาวาดเส้นรอบเท้า ตอนลากเส้นให้วางปากกาในแนวตรง (หัวปากกกาจะได้ไม่เอียงเข้าหาเท้า แล้วได้แบบที่เล็กเกินไป)
  3. ตรงข้อนิ้วโป้งเท้า บริเวณปลายนิ้วเท้าทั้งห้า และข้อนิ้วก้อยเท้า เราจะได้เส้นเว้าเข้าออก ให้ลากเส้นโค้งต่อเนื่องเผื่อพื้นที่ไว้เลย เราจะได้แบบที่โค้งอย่างเดียว ไม่มีเว้า (เหมือนพื้นรองเท้าทั่วๆ ไป)
  4. ทำเครื่องหมายสำหรับเจาะรูร้อยเชือกไว้ 3 ตำแหน่งคือ ง่ามระหว้างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ บริเวณตาตุ่มด้านใน และบริเวณตาตุ่มด้านนอก
  5. เอาแบบที่ได้มาประกบกับพื้นรองเท้า ลอกแบบด้วยดินสอลงบนพื้นรองเท้า และตัดพื้นรองเท้าตามแบบ
  6. ใครที่เท้าซ้าย-ขวาไม่ต่างกัน สามารถใช้แบบที่ทำไว้ พลิกด้านและตัดพื้นรองเท้าสำหรับอีกข้างหนึ่งได้ ตอนทำ ระวังจะสับสนตัดข้างเดียวกันออกมา 2 ครั้ง
  7. ใช้กรรไกรตัดได้เลย เมื่อยมือนิดหน่อย ตัดทวนเข็มนาฬิกาจะง่ายกว่า และตอนตัดให้ตัดเผื่อจากเส้นที่วาดแบบไว้ เพราะเอาออกทีหลังได้ แต่ถ้าเล็กไปต้องทำใหม่


เมื่อตัดพื้นรองเท้าเสร็จทั้ง 2 ข้าง ก็ลอกตำแหน่งเจาะรูร้อยเชือกจากแบบ (ใช้ปากกาเจาะกระดาษให้ทะลุเลยก็ได้)

เจาะรูตามตำแหน่งที่ทำเครื่องหมายไว้ สำหรับรูข้างตาตุ่มทั้ง 2 ฝั่ง ให้เขยิบรูเข้ามาจากขอบประมาณ 4-6 mm. เพื่อไม่ให้รูฉีกไปที่ขอบพื้นรองเท้า


ร้อยเชือกโดยเริ่มจากรูที่ง่ามเท้า (วิธีการร้อย ดูจากวิดีโอด้านล่าง)


เสร็จแล้ว เตรียมตัวออกไปวิ่งด้วยความตื่นเต้นกับประสบการณ์ใหม่ ตอนวิ่งจะมีเสียงดังแปะๆ นิดหน่อย ยิ่งตอนวิ่งเหนื่อยมากๆ แต่วิ่งด้วยความเร็ว เสียงจะดังจนคนหันมาแล้วหลบฉากออกไปเลยทีเดียว (ภาพที่เราเห็นจะเหมือนมีเส้นสปีดแบบในมังงะ พุ่งตรงไปข้างหน้าเลยทีเดียว)


สำหรับการใส่วิ่งครั้งแรก เชือกอาจจะมีหลุดบ้าง ก็ต้องแวะผูกเชือกกันใหม่ ค่อยๆ ปรับเชือกให้เหมาะ ไม่หลวมเกินไป ไม่แน่นเกินไป สัมผัสแรกเราจะรู้สึกคล้ายๆ เดินเท้าเปล่า (แต่ก็ไม่ขนาดนั้นหรอก) เพราะเราจะรู้สึกได้ถึงหลุมเนิน หรือเศษใบไม้ กรวดเล็กๆ บนพื้นที่เราเดินอยู่ แนะนำให้ลองวิ่งระยะน้อยๆ ก่อน พอเข้าที่เข้าทางค่อยปรับระยะมาเป็นระยะปกติของเรา

ใครยังไม่เห็นภาพ ลองดูวิดีโอของ invisibleshoes เพื่อทำความเข้าใจก่อนจะเริ่มลงมือได้ครับ




ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้ แล้วคันไม้คันมือ อยากลองทำเลย ผมมีพื้นรองเท้าที่ทากาวไว้เรียบร้อยแล้ว ตัดเป็นแผ่นขนาด 27 cm. x 31 cm. (ทำรองเท้าได้ 1 คู่) เอาไปตัดตามแบบเท้าตัวเอง เจาะรู ร้อยเชือก (มีเชือกให้ แต่ต้องหาที่เจาะรูเองนะครับ) ก็จะได้รองเท้าที่ทำเองสำหรับใช้งาน 1 คู่

สนใจทักมาคุยกันก่อนได้ที่ LINE: niwpopkorn ครับ 

Sunday, July 10, 2016

DIY Running Sandals - รองเท้าวิ่งทำมือ ตอนที่ 1

ผมไม่ใช่นักวิ่ง แค่ได้ลองวิ่งแล้วรู้สึกว่ามันเหนื๊อยเหนื่อย รู้เลยว่าหลงตัวเองมาตลอด หลงคิดว่าการปั่นจักรยานเป็นประจำนั้น ทำให้เราแข็งแรงมากพอ (ผมปั่นจักรยานจากบ้านไปออฟฟิศ ระยะทาง 8 km ไปกลับก็ 16 km เป็นระยะสั้นๆ ใช้เวลาประมาณ 25 นาที/เที่ยว) เลยอยากวิ่งให้แข็งแรงขึ้นจนรู้สึกไม่เหนื่อยจนทรมานเหมือนตอนวิ่งครั้งแรก (ยังจำความรู้สึกได้อยู่เลย เริ่มวิ่งแค่ระยะ 50 m ด้วยความเร็วที่โดนคนเดินแซง แต่หัวใจเต้นแรงจนรู้สึกเจ็บหน้าอก หายใจไม่ค่อยถนัด ระหว่างวิ่งไม่คิดจะพูดเลยเพราะเหนื่อยมากกกก)

ผมได้มารู้ว่ามีคนวิ่งเท้าเปล่า จากพี่ที่รู้จักกัน เป็นการเปิดหูเปิดตาผมเหมือนกัน มันทำให้ผมเบี่ยงเบนมาทางการวิ่งแบบธรรมชาติซึ่งจะลงหน้าเท้า และคอยระวังเรื่องการลงด้วยส้นเท้า

การวิ่งเท้าเปล่ามันดึงดูดความสนใจผมได้เนื่องจาก
  • เป็นท่าวิ่งที่ธรรมชาติจริงๆ สัญชาตญานจะบอกให้เราลงหน้าเท้าเมื่อเราวิ่งเท้าเปล่า เพราะถ้าลงส้นมันรู้สึกไม่มั่นคง น่าจะล้มง่าย แล้วมันรู้สึกกระแทกมากกว่ากันเยอะ
  • มันทำให้การวิ่งไม่มีสิ่งปรุงแต่งต่างๆ ที่มากับรองเท้า เช่น แฟชั่น เทคโนโลยี ฐานะทางสังคม
บางคนมองว่า เทคโนโลยีในรองเท้าช่วยให้เราวิ่งวิ่งได้สบายกว่าเดิม ซึ่งก็น่าจะทำให้วิ่งได้เร็วขึ้นและไกลขึ้น แต่สิ่งที่ผมต้องการจากการวิ่ง เขียนไว้ที่ย่อหน้าแรกแล้ว ซึ่งมันไม่ใช่การวิ่งได้เร็วหรือวิ่งได้ไกล เป้าหมายผมเลยไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีในรองเท้า

เมื่อมีโอกาส ผมก็เลยลองวิ่งเท้าเปล่าแบบไม่รู้อะไรเลย ลองวิ่งบนสนามหญ้าในสวนลุมฯ แล้วรู้สึกดีมาก ทุกๆ ก้าว เราจะได้เหยียบหญ้านุ่มๆ บางส่วนมีน้ำขังในกอหญ้าก็วิ่งลุยน้ำได้เลย (ถ้าใส่รองเท้าเราคงไม่วิ่งลุยน้ำเพราะขี้เกียจมาซักทีหลัง) เท้าที่จุ่มลงน้ำตื้นๆ มีหญ้ารองข้างใต้อีกที มันรู้สึกดีมากครับ เย็น นุ่ม สดชื่น วิ่งเหยียบกิ่งไม้บ้าง ก้อนหินบ้าง เราก็จะรู้สึกเคืองๆ หรือสะดุดนิดหน่อย แต่ก็ยังไปต่อได้ จนกระทั่งวิ่งไปเหยียบอะไรสักอย่างแล้วรู้สึก "เจ็บ" เลยหยุดวิ่ง นั่งลงหงายฝ่าเท้าดู ก็เห็นเลือดไหลซิบๆ ก็เลยรู้ตัวว่าเท้าเราบางเกินไป เนื่องจากเรามีสัมผัสนุ่มๆ ของพื้นรองเท้ามารองรับอยู่ตลอด เจออะไรนิดหน่อย ก็โดนทิ่มเลือดไหลละ

เข็ดจากการลองวิ่งเท้าเปล่า ผมก็เริ่มมาสนใจรองเท้าที่ทำให้เราวิ่งได้ใกล้เคียงเท้าเปล่า ที่คนรู้จักเยอะหน่อยก็จะเป็น Vibram FiveFingers เป็นรองเท้าที่เหมือนถุงเท้า 5 นิ้ว แต่ทำจากยางบางๆ แค่ห่อหุ้มผิวหนังเพิ่มขึ้นอีกชั้นแค่นั้น ไม่มีส่วนรับแรงกระแทกอย่างรองเท้าวิ่งทั่วไป 

รองเท้า Vibram FiveFingers
ภาพจาก pantip

ผมได้เปิดหูเปิดตาอีกครั้ง จากพี่ที่รู้จักกัน (คนเดิม) เพราะเขาใส่รองเท้าวิ่งที่ผมไม่เคยเห็นใครใส่วิ่งมาก่อน ลักษณะเหมือนรองเท้าของพวกนักรบสมัยกรีก-โรมันที่เคยเห็นในหนัง คือจะเป็นแค่พื้นรองเท้าแล้วก็เป็นเส้นๆ ขึ้นมาพันเท้าขึ้นมาจนถึงหน้าแข้ง ไม่มีอะไรห่อหุ้มมากนัก ได้มารู้อีกทีว่า ชื่อมันคือ Huaraches เป็นรองเท้าที่ชนเผ่านึงเขาใช้กัน เพราะมันทำได้เอง จากวัสดุเหลือใช้ เช่น ยางรถยนต์

รองเท้า Huaraches
ภาพจาก tumblr

กลับมาที่รองเท้าวิ่งคู่นั้น ผมได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พี่เขาได้มาจากคนที่รู้จักกัน ซึ่งพี่คนนั้นเขาทำใช้เอง ผมเริ่มเห็นความเป็นไปได้ที่จะทำรองเท้านี้ใช้เอง เลยเริ่มหาข้อมูล ก็มาเจอว่ามีคนทำขายอยู่แล้ว และก็แพร่หลายอยู่พอสมควร ถ้าอยากหามาใส่วิ่งก็สั่งซื้อเอาได้ เพราะทำเองเริ่มรู้สึกว่ามันวุ่นวายเกิน วัสดุที่ใช้ก็ไม่รู้จัก ไม่รู้จะซื้อที่ไหนยังไง กลัวทำมาแล้วใช้ไม่ได้ จะกลายเป็นเพิ่มขยะให้โลกนี้ซะเปล่าๆ

รองเท้า Huaraches แบบสำเร็จรูป
ภาพจาก pantip

วันหนึ่ง ผมมีโอกาสได้ขอยืมพี่เขาใส่รองเท้าคู่นั้นวิ่ง ความรู้สึกแรกคือมันดูแปลก เหมือนแต่ง cosplay มากกว่าจะไปวิ่ง การพันผูกเชือกไม่ยากมาก แต่วิ่งครั้งแรก แล้วมีหลุด ก็ต้องแวะผูกใหม่ แต่จุดที่ประทับใจคือ ความรู้สึกมันใกล้กับการวิ่งเท้าเปล่ามากกว่ารองเท้าทั่วไป คือ เท้าด้านบนจะเปลือย รับลมได้เต็มที่ การวิ่งไปเจอพื้นที่ไม่เรียบ แม้จะเป็นพื้นนูนเล็กๆ เราก็จะรู้สึกได้ การลงน้ำหนักถ้าเราเผลอลงส้น แรงมันสะเทือนขึ้นมาจนรู้สึกได้ เราก็จะปรับก้าวถัดไปให้ลงหน้าเท้าได้ทันที

พอได้ลองแล้วผมเกิดอาการติดใจ เริ่มจริงจังกับการหารองเท้าคู่ใหม่ การใช้เงินแก้ปัญหา คือหาซื้อเอา มันก็สะดวกดี เร็วกว่า ใช้ได้ชัวร์ แต่ผมชอบการทำใช้เองมากกว่า เพราะมันต้องใช้ความคิดเยอะกว่า ได้ลองทำในสิ่งที่เราไม่ถนัด และที่สำคัญคือ ได้ความภูมิใจจากการเป็นผู้สร้างสรรค์

สรุปว่าผมทำรองเท้าวิ่งใช้เอง 2 คู่ ไว้ที่บ้าน 1 คู่ ไว้ที่ออฟฟิศ 1 คู่ จะได้ไม่ต้องวางแผน ว่าจะวิ่งวันไหน วิ่งที่ไหน ถ้ามีโอกาสวิ่ง จะแถวบ้านหรือแถวออฟฟิศ ก็หยิบมาร้อยเชือกออกวิ่งได้เลย รองเท้า 2 คู่นี้ทำให้ผมสนุกกับการวิ่งมากกว่าเดิม เพราะมันได้ความภูมิใจทุกครั้งที่เห็น ทุกครั้งที่สวม ร้อยเชือก ทุกครั้งที่ออกก้าววิ่ง ผมอยากออกไปวิ่งบ่อยกว่าเดิม และผมก็วิ่งได้เร็วขึ้นทีละนิดด้วย (ไม่รู้ว่าเกี่ยวกับรองเท้าหรือไม่) ถ้าใครอยากลองทำตามบ้าง รอติดตามตอนต่อไปครับ